ฟื้นฟูสุขภาพเข่าด้วยคู่มือออกกำลังกายหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
เมื่ออายุเฉลี่ยของประชากรไทยเพิ่มสูงขึ้น พร้อมจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นเกือบ 10 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. 2557) หรือประมาณร้อยละ 13 ของประชากรไทยทั้งประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันพบโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะโรคกระดูกและข้อ เช่น โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) และโรคข้อเข่าเสื่อม (osteoarthritis หรือ OA) ท้ายที่สุดแล้วผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจำนวนหนึ่งต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ซึ่งมักจะมีระยะพักฟื้นนานกว่า 6 สัปดาห์ โรคข้อเข่าเสื่อมพบได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ เช่น สุนัขและแมว เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมและการบาดเจ็บซ้ำๆ ของกระดูกอ่อนที่อยู่บริเวณข้อ รวมถึงข้อเข่าและข้อสะโพก โดยทั่วไปข้อเข่าเสื่อมพบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ที่จริงแล้วกระดูกอ่อนของข้อเข่าจะค่อยๆ เสื่อมลงตามอายุอยู่แล้ว แต่มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกอีกจำนวนหนึ่ง เช่น น้ำหนักตัวที่มากเกินไป การใช้งานข้อเข่าอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี การบาดเจ็บเรื้อรังของข้อเข่าและกล้ามเนื้อบริเวณข้อ และการฉีกขาดของหมอนรองเข่า (meniscus) เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้น
กระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าประกอบด้วยเซลล์กระดูกอ่อน และโปรตีนอุ้มน้ำและยืดหยุ่น เช่น โปรตีโอไกลแคน และคอลลาเจน กระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงโดยตรง แต่รับสารอาหารจากน้ำไขข้อที่อยู่ภายในข้อเข่า เมื่อมีการบาดเจ็บหรือการอักเสบขึ้นบริเวณกระดูดอ่อนหรือบริเวณโดยรอบ มักซ่อมแซมได้ยาก เซลล์กระดูกอ่อนอาจตายและมีการเพิ่มจำนวนเซลล์ใหม่ได้น้อยลง โปรตีนโครงสร้างจะค่อยๆ ถูกทำลาย ทั้งจากการเสียดสีกันโดยตรงระหว่างกระดูกอ่อนของปลายกระดูกต้นขาและกระดูดแข้ง และจากการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวสร้างเอนไซม์ย่อยโปรตีนและพสร้างสารเคมี ที่ทำให้เกิดการอักเสบ (ส่วนใหญ่เป็นไซโตไคน์) เช่น อินเตอร์ลิวคินชนิดที่ 6 และทูเมอร์เนโครซิสแฟคเตอร์ชนิดอัลฟา ในไม่ช้าจะทำให้เกิดเป็นวงจรการอักเสบเรื้อรัง จนทำให้ข้อเข่าใช้การไม่ได้และเจ็บปวดบริเวณข้อเข่า
ทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศาสตราจารย์ ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ร่วมกับ นพ.สาธิต เที่ยงวิทยาพร ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ และ ดร.จรินธร ธีระพรพันธกิจ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีไซโตไคน์ที่สร้างขึ้นภายในข้อเข้าที่กำลังอักเสบหลายตัว เช่น อินเตอร์ลิวคินชนิดที่ 6 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของกระดูกอ่อนที่ถูกทำลายและความเจ็บปวด ที่น่าสนใจคือมีรายงานจากกลุ่มวิจัยในต่างประเทศที่เสนอว่าโรคข้อเข่าเสื่อมอาจทำให้โรคกระดูดพรุนมีความรุนแรงมากขึ้น แต่กลไกยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก จึงตั้งสมมติฐานถึงความเป็นไปได้ที่ไซโตไคน์ซึ่งสร้างขึ้นบริเวณข้อและผ่านเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเตอร์ลิวคินชนิดที่ 6 และแร็งไลแกนด์ (RANKL) ตลอดจนความเจ็บปวดบริเวณข้อเข่าที่สามารถกระตุ้นระบบประสาทอัตโนวัติซิมพาเทติก (sympathetic autonomic nervous system) อาจเป็นตัวเร่งที่ทำให้โรคกระดูกพรุนรุนแรงขึ้น เนื่องจากทั้งระบบประสาทซิมพาเทติกและไซโตไคน์เหล่านี้ ล้วนสามารถกระตุ้นเซลล์สลายกระดูก (osteoclast) ทั่วร่างกาย ทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วได้
เมื่อกระดูดอ่อนบริเวญข้อถูกทำลายจนเนื้อกระดูกสองชิ้นเสียดสีกัน ข้อเข่าผิดรูปไปมาก ไม่สามารถลงน้ำหนัก เดินลำบาก หรือมีอาการเจ็บปวดจนไม่สามารถบรรเทาด้วยยา ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า หลังกานผ่าตัดต้องทำกายภาพบำบัด ฝึกลงน้ำหนักและฝึกเดินเพื่อให้กลับมาเดินได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ระยะพักฟื้นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการทำกายภาพบำบัดและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำให้ถูกท่า ทั้งที่จริงทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะผู้ป่วยตลอดจนผู้ดูแลต้องมีความเข้าใจเรื่องท่าออกกำลังกายที่ได้ผลดีแต่ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณที่ผ่าตัด ความถี่ของการออกกำลังกาย และการประเมินประสิทธิภาพของการออกกำลังกายเบื้องต้น นอกจากนี้หลายคนไม่มีการจดบันทึกหรือทำตารางการออกกำลังกาย ทำให้เกิดช่องว่างในการสื่อสารกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น ทีมวิจัยจึงออกแบบ “เมนูดูแลเข่าและบันทึกรัก (สุขภาพ) เข่า” ขึ้นมาเพื่อเป็นคู่มือให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ซึ่งมักเป็นผู้สูงอายุ กลับมาเดินได้เร็วขึ้น กล้ามเนื้อขาแข็งแรงขึ้น และใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน จากการทดสอบประสิทธิภาพในอาสาสมัครที่เข้ารักการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าที่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลว่า เมนูดูแลเข่าฯ ทำให้อาสาสมัครสามารถฟื้นฟูสุขภาพเข่าได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพว่าการฟื้นฟูแบบทั่วไป ตัวแปรชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ องศาการเคลื่อนไหว และคะแนนที่ใช้ชี้วัดความสามารถของผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งบ่งชี้ว่ามีความสามารถในการยืน เดิน การทำกิจกรรมทั่งไป และกิจกรรมขั้นสูง (เช่น การเดินถือของ การย่อเข่า หรือการเดินขึ้นบันได) ดีกว่าผู้ที่ได้รับการฟื้นฟูแบบทั่วไป อีกทั้งมีความวิตกกังวลในการทำกิจกรรมน้อยลง ทำให้อาสาสมัครร่วมมือในการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามที่ระบุไว้ในเมนูสุขภาพเข่าฯ ซึ่งในตัวเล่มประกอบด้วยวิธีการออกกำลังกายมาตราฐานที่จะช่วยฟื้นฟูกำลังของขาพร้อมรูปประกอบ ตลอดจนตารางให้ผู้ใช้งานจดบันทึกความถี่ของการออกกำลังกาย และบันทึกที่ช่วยการติดตามของแพทย์ ทั้งนี้ ท่าทาง ความถี่ ระยะเวลา และความหนักของการออกกำลังกายได้รับการปรับให้เหมาะสมกับระยะพักฟื้น ปัจจุบันเมนูดูแลเข่าฯ ได้รับหนังสือรับรองลิขสิทธิ์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เลขที่ 328200 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2558
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ายังมีช่องว่างอีกมากในงานวิจัยเรื่องโรคข้อเข่าเสื่อม ตั้งแต่ความเข้าใจเรื่องพยาธิกำเนิดของโรคการวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่จะช่วยประเมินความรุนแรงของโรคและการพยากรณ์โรคการพัฒนายาที่ชะลอความเสื่อมของกระดูกอ่อนและลดอาการปวด การวิจัยด้านวัสดุศาสตร์เพื่อพัฒนาข้อเข่าเทียม การวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) เพื่อฟื้นฟูกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่า และการพัฒนาเครื่องมือหรือวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ากลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติโดยเร็ว เหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์วิจัยที่ต้องอาศัยทีมที่มีนักวิจัยหลากหลายสาขา อาทิ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ เภสัชศาสตร์ สรีรวิทยา ชีวเคมี วัสดุศาสตร์ และวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นต้น ที่สำคัญคือแหล่งทุน เช่น สกว. มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และสถานพยาบาล ต้องส่งเสริมให้นักวิจัยทำงานเป็นเครือข่ายที่มีทั้งงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและงายวิจัยทางคลินิก โดนเฉพาะการทดลองแบบหลายศูนย์ (multicenter trial) ซึ่งจะผลักดันให้งานวิจัยที่เกิดขึ้นในเครือข่ายได้รับการนำไปใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม
ข้อมูลอัพเดท April 15, 2016
ศาสตราจารย์ ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์
เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
ศาสตราจารย์อาวุโส สาขาสรีรวิทยา
หน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เครดิต: คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล
Leave a Reply