โรคทอกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis) : มหันตภัยเงียบของตัวอ่อนในครรภ์
โรคทอกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis) เกิดจากการติดเชื้อ ทอกโซพลาสมา กอนดิไอ (Toxoplasma gondii) พบได้ทั่วโลกโดยเฉพาะเขตร้อนและใกล้เขตร้อน รวมทั้งประเทศไทย พบการติดเชื้อทั้งในคนปกติและคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ประมาณว่าประชากรโลก 1 ใน 3 ติดเชื้อนี้ โดยพิจารณาจากประชากรที่มีภูมิต้านทาน (antibody) ต่อเชื้อนี้ ทอกโซพลาสมา กอนดิไอ เป็นปรสิตเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ภายในเซลล์บุลำไส้ของแมวหรือสัตว์ในตระกูลแมว ซึ่งเป็นโฮสต์สุดท้าย (final host หรือ definitive host)
เชื้อในแมวมีการแบ่งตัวเจริญเติบโต ทั้งแบบไม่อาศัยเพศและอาศัยเพศ จากนั้นจะปล่อยเชื้อระยะโอโอซิสต์ (oocyst) ออกมากับอุจจาระ ซึ่งต้องใช้เวลาเจริญต่อในดิน 1-5 วัน จึงจะเป็นระยะติดต่อ (sporulated oocyst) เข้าสู่โอสต์ตัวกลาง (intermediate host) ซึ่งคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด รวมทั้งนก เมื่อเข้าไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งที่ไม่เป็นอาหารของคน (เช่น สุนัข) และที่เป็นอาหารของคน เช่น สุกร แพะ แกะ โค และนก เป็นต้น เชื้อระยะแทคคิซอยต์ (tachyzoite) จะเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วภายในเซลล์แมคโครฟาจ (macrophage) เมื่อโฮสต์สร้างภูมิต้านทาน เชื้อก็จะหลบเข้าไปอาศัยในเซลล์ที่มีนิวเคลียสทุกชนิด เจริญเติบโตแบ่งตัวอย่างช้าๆ เรียกว่าระยะแบรดดิซอยต์ (bradyzoite) จากนั้นสร้างเป็นซิสต์เนื้อเยื่อ (tissue cyst) ซึ่งภูมิต้านทานไม่สามารถทำลายได้ เซลล์ที่เชื้อชอบเข้าไปอาศัยอยู่ ได้แก่ เซลล์สมอง กล้ามเนื้อ หัวใจ ลูกตา ซิสต์เนื้อเยื่อจะอยู่กับโฮสต์ไปชั่วอายุขัยของโฮสต์ คนสามารถเป็นโฮสต์ตัวกลางโดยบังเอิญ (accidental intermediate host) โดยการกินโอโอซิสต์ระยะติดต่อ หรือกินเนื้อสัตว์ที่มีซิสต์เนื้อเยื่อดิบๆ สุกๆ เข้าไป นอกจากนี้เชื้อยังมีโอกาสผ่านรกไปยังตัวอ่อนในครรภ์ได้และอาจก่อพยาธิสภาพรุนแรงถ้ามารดาติดเชื้อเป็นครั้งแรก สำหรับแมว การติดเชื้อเกิดจากกินหนูที่มีซิสต์เนื้อเยื่อหรือกินโอโอซิสต์ที่เป็นระยะติดต่อที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้การติดต่อยังสามารถเกิดได้จากที่สัตว์กินเนื้อกันเอง ซึ่งในสัตว์เหล่านี้ในช่วงแรกจะเจริญเป็นระยะแทคคิซอยต์ และเมื่อเชื้อเข้าสู่ระยะเรื้อรังจะพบแต่ระยะซิสต์ในเนื้อเยื่อซึ่งมีแบรดดิซอยติอยู่ภายใน ดังนั้นจึงไม่มีระยะโอโอซิสต์ (oocyst) ออกมากับอุจจาระเหมือนแมว
วงชีวิตของทอกโซพลาสมา กอนดิไอ
การก่อพยาธิสภาพในคน
ในระยะเฉียบพลัน คนที่มีภูมิคุ้มกันปกติมักไม่มีอาการหรือมีเล็กน้อยจนไม่สังเกตหรืออาการไม่จำเพาะ ทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษาโรงพยาบาล เช่น อาการคล้ายเป็นไข้หวัด เจ็บคอ มีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ บางรายมีอาการต่อมน้ำเหลืองที่ ต้นคอ แถวมุมกราม หลังใบหู เป็นต้น ซึ่งอาการอาจจะบรรเทาลงและหายไปเองได้ แต่จะเข้าสู่ระยะเรื้อรัง มีน้อยรายที่แทคคิซอยต์เข้าไปเจริญในอวัยวะสำคัญๆ เช่น ปอด ตับ สมอง ทำให้เกิดการตายของเนื้อเยื่อและเสียชีวิตได้ ถ้ารอดตายก็จะเข้าสู่ระยะเรื้อรังและมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ต่อเมื่อภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อก็จะถูกกระตุ้นให้เจิญเติบโตและแบ่งตัวและก่อโรคอีกครั้ง
ในระยะเรื้อรัง เชื้อในสมองและกล้ามเนื้อยู่ในรูปซิสต์เนื้อเยื่อ มีผนังหุ้มสามารถหลบจากภูมิคุ้มกันได้ ผู้ติดเชื้อจึงไม่แสดงอาการป่วยแต่อย่างใดและมีชีวิตปกติ แต่ถ้าเชื้อที่เข้าลูกตาอาจทำให้เกิดรอยโรคที่จอตาและเยื่อโครอยด์อักเสบตามมาใน 1 ปี ถึง 3.5 ปี
สำหรับผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี (HIV) และภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องจากเหตุอื่น เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะและได้ยากดภูมิคุ้มกัน ซิสต์ในสมองจะแตกและเชื้อจะถูกกระตุ้นให้กลายเป็นระยะแทคคิซอยต์ แพร่กระจายไปในสมองและทั่วร่างกาย แต่ส่วนใหญ่เชื้อชอบไปที่สมอง ทำให้เเกิดอาการ สมองอักเสบ (toxoplasmic encephalitis) และเสียชีวิตลง
เชื้อทอกโซพลาสมา กอนดิไอ จัดเป็นปรสิตฉวยโอกาสในผู้ป่วยเอดส์อันดับต้นๆ โดยเฉพาะเมื่อมีค่า CD 4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. ผู้ป่วยเอดส์ที่ นับค่า CD 4 ต่ำกว่า 50 เซลล์/ลบ.มม. จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเกิดอาการรุนแรงมากและเสียชีวิต อาการของสมองอักเสบในผู้เอดส์ จะสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงของความรู้สึก ซึมลง อ่อนแรงแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง ปวดศีรษะ ชัก และหมดสติ คลื่นไส้ การเกิดพยาธิสภาพดังกล่าวอาจเกิดจากการติดเชื้อใหม่ หรือเกิดจากแบรดดิซอยต์ในซิสต์ เนื้อเยื่อที่อยู่ในร่างกายถูกกระตุ้นให้เจริญเป็นแทคคิซอยต์ออกจากซิสต์และเข้าเซลล์แมคโครฟาเจริญเติบโตและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และถูกพาไปยังอวัยวะต่างๆ ก่อให้เกิดพยาธิสภาพที่อวัยวะนั้นๆ จัดเป็นการเกิดโรคกลับซ้ำดัวยเชื้อที่มีอยู่เดิมที่อยู่ในซิสต์ (recrudescence)
ทารกในครรภ์ที่ได้รับเชื้อจากมารดา (congenital toxoplasmosis) อาการขึ้นกับว่าได้รับเชื้อช่วงใดของการตั้งครรภ์ ถ้ามารดาติดเชื้อครั้งแรกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ (3 เดือนแรก ) มีโอกาสประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ ที่จะติดต่อสู่ทารก ทั้งนี้พบว่าทารกที่ติดเชื้อ 60 เปอร์เซ็นต์ ไม่พบอาการผิดปกติ 10 เปอร์เซ็นต์ จะแท้งหรือตายแรกคลอด และ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ จะมีอาการรุนแรง ถ้าเด็กรอดมักไม่แสดงอาการในตอนคลอด แต่เมื่อเติบโตขึ้นเด็กจะมีอาการของโรคปรากฏ เช่น มีไข้ ตับม้ามโตเหลือง ลือดจางซีด เกิดผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ปอดอักเสบ หากเป็นที่สมองก็มีอาการชัก น้ำคั่งสมอง หัวบาตรหรือหัวลีบ สมองและไขสันหลังอักเสบ เนื้อสมองมีหินปูนเกาะจับ ตาเหล่ ต้อกระจก จอตาอักเสบ ตาบอด หูหนวก ปัญญาอ่อน และ อาการชักในช่วงเด็กวัยรุ่น ถ้ามารดาติดเชื้อเป็นครั้งแรกเมื่อตั้งครรภ์เกิน 6 เดือน โอกาสที่เชื้อจะผ่านรกไปยังตัวอ่อนจะมีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น แต่พยาธิสภาพและการก่อโรคในตัวอ่อน และทารกแรกเกิด จะไม่รุนแรงเท่าติดเชื้อตอนครรภ์อ่อนๆ ส่วนมารดาที่เคยติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทาน (แอนติบอดี Ig G) ป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนในครรภ์ติดเชื้อ และมารดาที่เคยติดเชื้อและมีลูกคนแรกที่ผิดปกติ โอกาสที่ลูกคนต่อไปจะติดเชื้อและเกิดอาการโรคนั้นต่ำมาก
การติดต่อของ โรคทอกโซพลาสโมซิส
- โดยการกินโอโอซิสต์ระยะติดต่อ ที่ปนเปื้อนอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือในเนื้อ ดิน และน้ำ โอโอซิสต์นี้จะมาจากสัตว์เพียงชนิดเดียว คือ สัตว์ในตระกูลแมว
- โดยการกินเนื้อที่มีซีสต์ซึ่งภายในมีระยะแบรดดิซอยต์อยู่ โดยซีสต์จะอยู่ภายในเนื้อสัตว์หรือเครื่องในของสัตว์ที่เป็นโฮสต์ตัวกลางที่นำมากินเช่น สเต็ก ลาบดิบ โดยไม่ได้ทำให้สุกพอที่จะฆ่าเชื้อนี้ได้
- โดยผ่านทางรก ในขณะที่แม่ตั้งท้อง โดยระยะแทคคิซอยต์จะผ่านจากแม่เข้าไปสู่ลูกโดยตรง โดยจะเข้าไปอยู่และทำให้เกิดซีสต์ที่สมอง ตา หรือที่อวัยวะอื่นๆ ของเด็กแรกคลอด
- โดยผ่านทางน้ำนม โดยระยะระยะแทคคิซอยต์ จะออกมากับน้ำนมของแม่ เมื่อลูกกินนมก็จะได้รับเชื้อเข้าไป แต่กรณีนี้จะไม่ทำอันตรายกับลูกได้มากเท่ากับการผ่านทางรก
- เกิดจากเชื้อที่ซ่อนอยู่ในร่างกายกลับมาเจริญเติบโตเมื่อผู้ติดเชื้อเกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
การวินิจฉัย
- จากการตรวจหาแอนติบอดีย์ต่อเชื้อ ทอกโซพลาสมา กอนดิไอ
- จากการตรวจโดยวิธี Sabin-Feldman dye test
- จากการตรวจโดยวิธีปฏิกริยาลูกโซ่โพลิเมอเรส (Polymerase chain reaction – PCR)
- การตรวจ MRI scan มีรอยโรคที่สมองก็ให้การวินิจฉัย
- การเพาะเชื้อจากน้ำไขสันหลัง การวินิจฉัยที่บอกได้แน่นอนคือการน้ำเชื้อเนื้อสมองมาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ซึ่งพบตัวเชื้อ
การป้องกันไม่โห้ติดโรคทอกโซพลาสโมซิส
(โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ครั้งแรกที่ไม่เคยติดเชื้อและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง)
- ดื่มน้ำสะอาด
- ไม่ดื่มนมดิบ
- ไม่ควรรับประทานเนื้อดิบหรือไม่สุขที่ทำจาก แกะ หมู วัว ควรทำให้เนื้อสุกที่อุณหภูมิที่ 73-75 oC หรือจนกระทั้งไม่พบเนื้อแดงๆ เนื้อที่แช่แข็งหรือรมควันจะปลอดภัยจากเชื้อนี้
- ล้างผัก ผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน
- ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสเนื้อดิบ
- ล้างเครื่องครัวที่สัมผัสกับเนื้อดิบด้วยน้ำและสบู่
- ในประเทศเขตอบอุ่นหรือหนาวลี้ยงแมวในบ้าน ควรทำความสะอาดถาดอุจจาระแมวด้วยน้ำร้อนเพื่อทำลายโอโอซิสต์
- หลังจากการ ทำสวน ควรล้างมือให้สะอาด ควรสวมถุงมือขณะทำสวน
- หญิงมีครรภ์และผู้ที่มีภาวะทางภูมิคุ้มกันบกพร่องควรหลีกเลี่ยงการอุ้มแมว หรือล้างถาดอุจจาระแมว
- คนที่เล่นกับสุนัข ควรล้างมือสะอาด เนื่องจากอาจได้รับโอโอซิสต์ จากขนของสุนัขที่ปนเปื้อนอุจจาระแมว
- หากเลี้ยงแมวควรมีกระบะให้แมวขับถ่ายและเปลี่ยนทุกวันและล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ถ้าหากต้องทำเองต้องสวมถุงมือทุกครั้ง
- ห้ามให้อาหารเนื้อดิบๆแก่แมว ควรเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารที่ทำให้สุก
- หากจะซื้อแมวต้องอายุมากกว่า 1 ปีและสุขภาพแข็งแรง
- ห้ามแมวเข้าห้องครัว
- เลี้ยงแมวในบ้านเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือปล่อยโอโอซีสต์ออกสู่สิ่งแวดล้อม
- ควรเลี้ยงแมวให้ห่างจากบริเวณที่เลี้ยงปศุสัตว์
- ไม่ให้แมวของบ้านอื่นเข้ามาในอาณาเขตของบ้านเรา
การป้องกันการติดเชื้อในผู้ป่วยเอดส์ จะให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อเมื่อ
- ถ้าเซลล์ CD4 น้อยกว่า100 เซลล์/ลบ.มม. ควรได้รับยาป้องกัน
- ยาที่ป้องกันการติดเชื้อคือ Trimethoprim- Sulfadiazine
- หรือ Dapsone: 100mg สัปดาห์ละสองครั้งร่วมกับ pyrimethamine
- เมื่อผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสเอดส์และมีเซลล์ CD4 มากกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. เป็นเวลามากกว่า 3 เดือน
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIVและเป็นโรคทอกโซพลาสโมซิสแล้ว ควรได้ยาป้องกันตลอดชีวิต ยาที่นิยมใช้ได้ผลดีคือ pyrimethamine ร่วมกับ sulfadiazineและ leukoverin
ผลงานวิจัยชี้บ่งว่า เชื้อปรสิตในแมวอาจทำให้คนอยากฆ่าตัวตายและเป็นโรจจิตเภท
ผลวิจัยของ นพ.ธีโอดอร์ พอสโตลัช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวช โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ ในสหรัฐฯ พบว่า หญิงสาวที่ติดเชื้อปรสิตทอกโซพลาสมา กอนดีไอ มีแนวโน้มพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อถึง 1.5 เท่า และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เมื่อระดับแอนติบอดีของเชื้อดังกล่าวสูง นอกจากนั้นการติดเชื้อทอกโซพลาสโมจะนำไปสู่การเจ็บป่วยทางจิตใจ เช่น โรคจิตเภท และพฤติกรรมเปลี่ยน ผลของการวิจัยพบว่าการเอนไซม์ ไทโรซีน ไฮดอกซีเลส (tyrosine hydoxylase) ของเชื้อทอกโซพลาสมา กอนดีไอ ที่อยู่ในเนื้อเยื่อทำให้ระดับโดปามีน (dopamine) ในสมองสูงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งระดับที่สูงอย่างผิดปกติของโดปามีนอาจมีส่วนทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการผิดปกติทางจิต เกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย คนที่มีแอนติบอดีต่อเชื้อเชื้อทอกโซพลาสมา กอนดีไอ มักเกิดอุบัติเหตุรถยนต์บ่อยกว่าคนที่ไม่มีแอนติบอดี (ไม่ติดเชื้อ) จากการที่พบความสัมพันธ์ระหว่างโรคจิตเภท ชนิด schizophrenia กับการที่มีซิสต์ของเชื้อทอกโซพลาสมา กอนดีไอ อยู่ในร่างกาย อาจนำไปสู่การรักษาจิตเภท ชนิด schizophrenia ด้วยยาที่ทำลายหรือฆ่าเชื้อทอกโซพลาสมา กอนดีไอ ก็อาจเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า เชื้อทอกโซพลาสมา กอนดีไอ เป็นสาเหตุที่ทำให้คนฆ่าตัวตายหรืออาการอื่นๆ หรือไม่ แม้ว่าจะพบความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อและความพยายามในการฆ่าตัวตายในภายหลัง โดยนักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานว่า จากคนที่ติดเชื้อ 84 ราย มากกว่าครึ่งที่พยายามจะฆ่าตัวตาย ดังนั้นคงจะต้องทำการศึกษาต่อไป
รวบรวมและเรียบเรียงจากเอกสารดังต่อไปนี้
- http://www.manager.co.th/around/viewnews.aspx?NewsID=9550000081367
- Torrey E F, Yolken† R H. Toxoplasma gondii and Schizophrenia. Emerg Infect Dis J, 2003, http://wwwnc.cdc.gov/eid/article/9/11/03-0143_article.htm (1 of 20)29/3/2557 14:17:08
- http://en.wikipedia.org/wiki/Apicomplexan_life_cycle
- Alvarado-Esquivel C, Urbina-Álvarez J D, Estrada-Martínez S, et al. Toxoplasma gondii infection and schizophrenia: A case control study in a low Toxoplasma seroprevalence Mexican population. Parasitol Inter 60 (2011) 151–155
- http://dna.kdna.ucla.edu/parasite_course-old/toxo_files/subchapters/pathogenesis.htm
- http://www.babycenter.com/0_toxoplasmosis-during-pregnancy_1461.bc
- http://www.cdc.gov/parasites/toxoplasmosis/gen_info/pregnant.html
- http://www.oknation.net/blog/print.php?id=194827
———————————————————————————————
โดย ศ.ดร.พีรพรรณ ตันอารีย์
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก: คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล
Leave a Reply